รู้สึกปวดฟันจากหลายสาเหตุ เช่น ฟันผุทะลุโพรงประสาท, ฟันกรามแตกเป็นโพรง ฯลฯ จนต้องไปพบหมอ และสุดท้ายพบว่าจะต้องทำการรักษาโดยการ ‘ถอนฟัน’ แน่นอนว่า การสูญเสียฟันไปอาจทำให้หลายคนกังวล ทั้งความกลัวว่าจะเจ็บ กลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และไม่แน่ใจว่าควรที่จะดูแลตัวเองอย่างไรให้แผลหายดี
บทความนี้ Smile and Co จึงจะมาไขข้อข้องใจทั้งหมดเกี่ยวกับกับการถอนฟันว่ามีเรื่องอะไรที่คนไข้จะต้องรู้บ้าง มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ทันตแพทย์วินิจฉัยให้ถอนฟันบ้าง รวมถึงบอกวิธีดูแลตัวเองหลังจากทำการถอนฟันไปแล้วให้เพิ่มเติมด้วย ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูคำแนะนำจากทันตแพทย์พร้อมๆ กันได้เลย
ถอนฟัน
การถอนฟัน คือ วิธีการรักษาสุขภาพภายในช่องปากรูปแบบหนึ่งโดยการถอนฟันที่ไม่สามารถทำการรักษาได้หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตออกจากกระดูกเบ้าฟันจากสาเหตุหลายประการ รวมถึงมีระดับความยากง่ายต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุเหล่านั้นและตำแหน่งฟันที่จะต้องทำการถอนออกไปด้วย
ถอนฟันอันตรายไหม
การถอนฟันไม่อันตรายหากทำการรักษาตามที่ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าทำการถอนฟันเองอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ตามมา เช่น เกิดการติดเชื้อ เหงือกอักเสบ ฯลฯ ทางที่ดีจึงควรเข้ารับการวินิจฉัยการรักษาจากทางทันตแพทย์ และถ้าหากต้องทำการถอนฟันก็ควรใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและสะอาดภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีประสบการณ์จะปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่างๆ ได้มากที่สุด
ถอนฟัน กับ ผ่าฟัน ต่างกันอย่างไร
การถอนฟันมักจะทำกับฟันที่ขึ้นโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาตามปกติ แต่ถ้าต้องทำการผ่าฟันนั้นจะเป็นการผ่าฟันที่ไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาได้ตามปกติ หรืออาจจะเป็นฟันที่ไม่สามารถทำการถอนออกได้ จึงจำเป็นที่จะต้องผ่าฟันออกและทำการเย็บปิดบาดแผลภายหลัง
ฟันคุด คืออะไร
ฟันคุด คือ ฟันแท้ที่อยู่บริเวณขากรรไกรด้านในสุด มีทั้งในรูปแบบที่โผล่ขึ้นพ้นเหงือกแบบปกติ และไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะมีกระดูก เหงือกมาปิดขวาง หรือฟันล้มเอียงไปชนอยู่กับฟันซี่อื่นที่อยู่ข้างเคียง
สาเหตุที่ต้องถอนฟัน
สำหรับสาเหตุที่ต้องถอนฟันออกนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น
- ถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน
สำหรับใครที่ต้องการจัดฟันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าอยากจัดฟันหน้าเปลี่ยน หรือจัดฟันหน้าเรียว หากมีปัญหาฟันซ้อน ฟันเก ทันตแพทย์จะทำการวางแผนการรักษาว่าจะต้องทำการถอนฟันซี่ไหนบ้างและจำนวนกี่ซี่ เพื่อให้มีช่องว่างในการจัดฟันจัดเรียงตัวของฟันใหม่ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการดันฟันซี่ข้างเคียงในอนาคต รวมถึงทำให้การติดตั้งเครื่องมือเพื่อจัดฟัน เช่น จัดฟันแบบโลหะ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ถอนฟันเนื่องจากปัญหาฟันอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น การมีฟันผุที่ลุกลามจนลึกลงไปยังเนื้อเยื่อจนถึงโพรงที่ตัวฟัน รวมถึงไม่สามารถรักษารากฟันและทำการครอบฟันได้ ก็อาจจะต้องทำการถอนฟันออก เพื่อไม่ให้โรคลุกลามไปยังฟันซี่ข้างเคียงได้
- ถอนฟันเนื่องจากปัญหาโรคเหงือก
ปัญหาโรคเหงือก เช่น โรคปริทันต์ ฯลฯ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บนตัวฟัน หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดอาการบวม ระคายเคืองของเหงือก เหงือกร่น มีอาการเสียวฟัน ไปจนถึงเหงือกร่น หรืออาจลุกลามติดเชื้อไปยังกระดูกที่ยึดกับฟัน และสุดท้ายอาจจะต้องถอนฟันออกในที่สุด
- ถอนฟันเนื่องจากอุบัติเหตุ
หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ฟันโดนกระแทกอย่างรุนแรง จนทำให้ฟันหักและเหลือเนื้อฟันน้อยจึงแก้ไขด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันได้ จึงต้องทำการถอนฟันออกแทน
ใครบ้างที่ถอนฟันไม่ได้
สำหรับคนที่ถอนฟันไม่ได้หรือควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาจะมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- กลุ่มโรคเบาหวาน
กลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีอย่างเช่น โรคเบาหวาน เพราะเป็นโรคที่ทำให้บาดแผลหายช้า ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ระดับน้ำตาล 90-200 mg/dl จะยังสามารถให้การรักษาถอนฟันหรือผ่าตัดเล็กได้ แต่ทางที่ดีที่สุดควรที่จะแจ้งแพทย์เรื่องโรคประจำตัวก่อน เพื่อเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมก่อนทำการรักษาได้
- กลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน เช่น
- โรคลมชัก
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหอบหืด
- โรคหัวใจ เพราะอาจหอบเหนื่อย ใจสั่น เจ็บหน้าอกระหว่างทำทันตกรรมได้
- กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดไหลช้า เช่น
- โรคลิวคีเมีย หรือโรคเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ที่เคยมีประวัติผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด
- โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต
การเตรียมตัวก่อนการถอนฟัน
- เตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ให้ประวัติสุขภาพของตนเองแก่ทันตแพทย์ตามจริงและครบถ้วน และถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา
- ควรรับประทานอาหารก่อน เพื่อที่เวลาถอนฟันเสร็จแล้วอาจจะรู้สึกเจ็บจนไม่อยากรับประทานอาหารได้ แต่หลังจากรับประทานอาหารแล้วควรที่จะแปรงฟันให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับและการแต่งหน้า
ขั้นตอนการถอนฟัน
- ทันตแพทย์จะทำการตรวจและพิจารณาว่าควรถอนฟันหรือไม่ บางทีอาจต้องทำการ X-ray เพิ่มเติมด้วย
- ทำการวัดความดันโลหิต เพราะถ้าความดันโลหิตสูงมากอาจส่งผลให้เลือดออกได้มากผิดปกติ และเป็นอันตรายได้ จึงควรตรวจให้เรียบร้อยก่อน หากตรวจพบว่าความดันสูงก็จำเป็นต้องเลื่อนการถอนฟันออกไปก่อน
- หากตรวจสอบแล้วว่าต้องทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะต้องทำการทายาชาและฉีดยาชา ซึ่งคนไข้จะรู้สึกตึงเล็กน้อย
- เมื่อชาแล้วก็จะทำการถอนฟัน เมื่อฟันหลุดออกก็จะต้องทำการกัดผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ประมาณ 30-60 นาทีจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการแนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ หลังจากถอนฟันไปแล้วให้อย่างละเอียด
ลักษณะแผลหลังถอนฟัน
ลักษณะแผลหลังถอนฟันจะเป็นหลุม เป็นแอ่ง ตามรูปร่างของรากฟันที่ทำการถอนออกไป และเลือดที่อยู่ในเบ้าฟันจะเริ่มแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด หรือมีเกล็ดเลือดมารวมตัวกันเพื่อช่วยทำให้เลือดหยุดไหล
การดูแลหลังถอนฟัน
- หลังการถอนฟันใหม่ๆ อาจมีอาการเลือดไหลอยู่ให้ทำการกัดผ้าก๊อซแน่นๆ เพื่อห้ามเลือดจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- ใช้น้ำแข็งประคบประมาณ 15-30 นาทีภายนอกบริเวณที่ทำการถอนฟัน เพื่อลดอาการเจ็บปวดและอาการบวม
- อย่าใช้ลิ้นดุนหรือดูดแผล รวมถึงอย่าบ้วนน้ำลายลายหรือเลือดทิ้ง เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น
- ในช่วง 6 ชั่วโมงแรกหลังการถอนฟันไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก รวมถึงในเวลา 12 ชั่วโมงไม่ควรบ้วนน้ำใดๆ แต่ถ้าผ่านไป 12 ชั่วโมงแล้วสามารถบ้วนน้ำเกลือได้
- หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารรสจัด อาหารเผ็ด และเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ในช่วง 2-3 วันแรก
- ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ควรรับประทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของทันตแพทย์
ถอนฟัน ราคาเท่าไหร่
ราคาการถอนฟันจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของฟัน การวางตัวของฟัน มีเหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ ฯลฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน สำหรับที่ Smile and Co จะมีราคาถอนฟันเริ่มต้นที่ 900 – 2,000 บาท
วิธีห้ามเลือดหลังถอนฟัน
หากเลือดออกหลังถอนฟันให้ทำการกัดผ้าก๊อซบริเวณที่ถอนฟันให้แน่นประมาณ 30-60 นาที และถ้าเลือดออกอยู่ให้เปลี่ยนผ้าชิ้นใหม่หลังจากนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล นอกจากนี้ไม่ควรทำการบ้วนเลือดหรือน้ำลายทิ้ง เพราะจะกระตุ้นทำให้เลือดไหลออกมาอีก
ถอนฟันเจ็บไหม
ก่อนการเริ่มถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำการให้ยาชาก่อน จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บตอนการถอนฟัน แต่อาจจะรู้สึกตึงๆ ได้ แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์อาจทำให้มีอาการปวด แต่สามารถรับประทานยาแก้ปวด รวมถึงประคบเพื่อให้อาการปวดและบวมลดลงได้
ถอนฟัน เลือดไหลไม่หยุด
ในช่วงแรกของการถอนฟันอาจมีเลือดซึมและไหลอยู่ แนะนำให้ทำการกัดผ้าก๊อซไว้ก่อนครบ 2 ชั่วโมงให้คายออก ถ้ายังมีเลือดไหลอยู่ให้กัดผ้าก๊อซต่ออีก 1 ชั่วโมง แต่ถ้าหากเลือดยังไม่หยุดไหล หรือมีเลือดซึมตลอดเวลาติดต่อกันไม่หยุด ให้กลับมาพบกับทันตแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุของอาการเลือดไหล
วิธีแก้ปวดหลังถอนฟัน
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวดตามทันตแพทย์แนะนำ
- ใช้น้ำแข็งประคบข้างแก้มด้านนอกบริเวณที่ทำการถอนฟันเป็นเวลาประมาณ 10-20 นาที จะช่วยลดอาการเจ็บและบวมได้
- ไม่ใช้นิ้วมือ ไม้จิ้มฟันแคะบริเวณฟันที่ทำการถอนออกไป รวมถึงไม่ใช้ลิ้นดุนฟันด้วย เพราะจะทำให้รู้สึกปวดแผลมากขึ้นได้
สรุป
สรุปแล้วการถอนฟันเป็นการทำทันตกรรมรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การจัดฟันไม่ว่าจะเป็นการจัดฟันครั้งแรก จัดฟันรอบสอง เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาหลังจัดฟัน, การเกิดอุบัติเหตุ, การเป็นโรคเกี่ยวกับฟันและเหงือก ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการทำทันตกรรมและไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บไหม เนื่องจากทางทันตแพทย์จะทำการให้ยาชา และหลังจากการถอนฟันแล้วก็จะมีการจ่ายยาแก้ปวดและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลหลังการถอนฟันเพิ่มเติมให้อีกด้วย