การนอนกัดฟันเป็นความผิดปกติเกิดขึ้นขณะกำลังหลับ ซึ่งเสียงที่เกิดจากการนอนกัดฟันมักสร้างความรำคาญให้คนที่นอนร่วมห้อง คนนอนกัดฟันส่วนมากมักไม่รู้ตัวเองว่าเป็นคล้ายกับคนที่นอนกรนซึ่งก็มักไม่รู้ตัวเองเช่นกัน
การนอนกัดฟันมีลักษณะขบเน้นฟันแน่น ๆ หรือฟันบนล่างบดถูไถ ซ้ำ ๆ กันในคืนหนึ่ง ๆ ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงอาจมีอาการดังกล่าวมากกว่า 100 ครั้ง ในขณะหลับ ซึ่งส่งผลต่อ
นอนกัดฟัน คืออะไร
เป็นการทำงานนอกหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวในขณะนอนหลับ ที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ จึงเกิดการกัดฟัน จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง (Sleep disorders)
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
- ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าอาจมีบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ความเครียด วิตกกังวล
- การรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
- โรคบางอย่าง เช่น Parkinson ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
- ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders)
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสให้เกิดการนอนกัดฟัน ได้แก่
- อายุ การนอนกัดฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็ก แต่โดยทั่วไจะหายไปเองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
- บุคลิกภาพหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบการแข่งขัน หรือสมาธิสั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการนอนกัดฟันได้
- สารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- การใช้ยารักษาโรค การนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท ซึ่งรวมไปถึงยาทางจิตเวชที่มีผลกระทบต่ออารมณ์หรือจิตใจ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า และยารักษาอาการทางจิต
อาการของการนอนกัดฟัน
รู้ได้อย่างไรว่าเรานอนกัดฟัน
- ส่วนมากคนที่นอนด้วยเขาจะบอกเราได้ แต่บางทีหรือบางคนถ้ากัดฟันแบบกัดแน่น ไม่ไถฟันไปมา ก็ไม่ได้ยินเสียง
- อาจสังเกตตัวเองว่าตื่นนอนแล้วรู้สึกเมื่อยหรือเจ็บตึงที่บริเวณแก้ม หน้าหู หรือมีข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติดๆ ขัดๆ
- ถ้าให้ทันตแพทย์ตรวจจะพบมีฟันสึกผิดปกติ ไม่สมกับอายุ ดูบริเวณแก้มด้านในและที่ขอบลิ้น มีรอยหยักตามแนวสบฟันชัดเจน แต่ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง และอาจใช้เครื่องมือที่ช่วยทดสอบว่านอนกัดฟัน
นอนกัดฟันอันตรายไหม
ผลเสียของการนอนกัดฟัน
เรื่องของฟัน
- มีฟันสึก ทำให้ฟันสั้นลง ฟันบาง คอฟันสึกเป็นร่อง มีอาการเสียวฟัน เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ฟันยิ่งสึกมากจะมีปัญหาเรื่องความสวยงามตามมา ทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยรักษารูปหน้าด้วย
- ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว สึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาฟัน
เรื่องของกล้ามเนื้อและกระดูกขากรรไกร
- ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้ เพราะอาการปวดส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและอารมณ์จิตใจ
- ทำให้กระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน บางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม
การวินิจฉัยการนอนกัดฟัน
การตรวจการนอน (Sleep Test) ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อวัดการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวขณะนอนหลับ หรืออาจใส่แผ่นบรั๊กเชคเกอร์ขณะนอนหลับ
การสังเกตอาการที่เป็นผลของการนอนกัดฟันด้วยตนเอง เช่น
- หลังตื่นนอนมีอาการเมื่อยตึงที่ขมับใบหน้าหรือต้นคอ หรือตึงๆบริเวณดังกล่าว
- มีอาการกัดฟันแล้วเจ็บหลายซี่ หรือเสียวฟันหลายซี่ ตอนเช้าๆหลังตื่นนอน
- มีความรู้สึกตัวเองตื่นสลึมสลือเหมือนกำลังกัดฟัน ในตอนนอน
การตรวจพบผลของการนอนกัดฟันโดยทันตแพทย์
- ฟันบิ่นแตก
- มีลักษณะแก้มกางออกใหญ่ขึ้นเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่
- มีปุ่มกระดูกในปากใหญ่ ด้านบนเพดาน ด้านในลิ้น หรือ ปุ่มกระดูกบริเวณเหงือก
- ฟันสึกมากผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม หากทันตแพทย์พบว่ามีนัยสำคัญทางจิตวิทยาที่ทำให้กัดฟันหรือเกิดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรึกษานักบำบัด ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอาจให้ทำการทดสอบ เช่น การประเมินภาวะหยุดหายใจ การบันทึกวิดีโอ และดูความถี่ของการหดเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรในขณะนอนหลับ
การรักษาการนอนกัดฟัน
การรักษาอาการนอนกัดฟันทางทันตกรรม
ใส่เฝือกสบฟัน
ทำจากอะคริลิกแข็งหรือวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม โดยทันตแพทย์จะให้ใส่ระหว่างนอนหลับ
เพื่อป้องกันฟันสึก ฟันแตก ฟันหัก
ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรลดความเกร็ง ความตึง
การจัดฟันหรือแก้ไขทางทันตกรรม การแก้ไขฟันที่มีปัญหาให้เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาการนอนกัดฟันที่มีสาเหตุทางทันตกรรมได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีฟันที่เสื่อมสภาพและทำให้เกิดอาการเสียวฟันหรือทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหา ทันตแพทย์อาจทำการปรับแต่งพื้นผิวฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวหรือที่มีการครอบฟัน ในบางรายทันตแพทย์อาจแนะนำให้มีการจัดฟันหรือการผ่าตัด
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การจัดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ครบทุกเรื่อง ที่คนยังไม่จัดฟันควรรู้ !
การรักษาอาการนอนกัดฟันโดยการบำบัด
ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลงเบาๆ การทำสมาธิ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย จะทำอย่างไรก็ได้ตามที่ชอบและสบายใจ แต่ไม่ใช่นั่งเล่นเกมส์ หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง
การจัดการกับความเครียด หากมีภาวะกัดฟันเป็นประจำหรือนอนกัดฟันที่มีสาเหตุมาจากความเครียด สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ด้วยการพบผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพหรือมองหาวิธีที่ช่วยให้มีการผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกายหรือการนั่งสมาธิ
การบำบัดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อพบว่ามีการนอนกัดฟัน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยการฝึกฝนการวางตำแหน่งของปากหรือขากรรไกรให้เหมาะสม ซึ่งทันตแพทย์จะแสดงตำแหน่งของฟันและขากรรไกรที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน
การใช้ยารักษาอาการนอนกัดฟัน
โดยปกติแล้วการใช้ยารักษาการนอดกัดฟันจะไม่มีประสิทธิภาพนัก และยังต้องการการค้นคว้าวิจัยอีกมาก ตัวอย่างการใช้ยาที่ใช้ในการรักษาการนอนกัดฟัน เช่น
ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์อาจให้ใช้ในบางรายด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
การฉีดโบท็อกซ์ (OnabotulinumtoxinA: Botox) การฉีดโบทอกซ์อาจช่วยผู้ที่มีการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการบรรเทารักษาอื่น ๆ
หากผู้ที่ใช้ยาในการรักษาการนอนกัดฟันแล้วได้รับผลข้างเคียง แพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น ๆ แทน
ราคาการรักษาอาการนอนกัดฟัน
การรักษาอาการนอนกัดฟัน มีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเผือกสบฟัน ป้องกันการกัดฟัน Splint ราคาค่ารักษาเริ่มต้นอยู่ที่ 5,000 – 6,000
ภาวะแทรกซ้อนของการนอนกัดฟัน
กล้ามเนื้อ
ถ้าเป็นน้อยก็อาจมีอาการเมื่อยๆ บริเวณแก้ม หน้าหู ตอนตื่นนอน
ฟัน
ฟันสึก แตก หรือร้าว ซึ่งอาจถึงขั้นต้องถอน
ข้อต่อขากรรไกร
ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บจนอ้าปากไม่ออก ขยับขากรรไกรลำบากจนถึงขั้นข้อต่อขากรรไกรเสื่อม
การป้องกันการนอนกัดฟัน
- ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ
- ตระหนักถึงความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น และหาวิธีการคลายเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง
- สังเกตดูว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การนอนกัดฟันแย่ลงหรือไม่
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด
- หลีกเลี่ยงการกัดสิ่งของต่าง ๆ เช่น ปากกา ดินสอ หรือสิ่งของที่มีความแข็ง
- สังเกตและระวังพฤติกรรมการกัดฟันและหลีกเลี่ยง โดยการผ่อนคลายขากรรไกร หากเป็นเวลาที่ตื่นนอน
- ฝึกนิสัยการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ การนอนหลับที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการนอนหลับและลดโอกาสการนอนกัดฟันได้อีกด้วย
- ถามคนที่นอนข้าง ๆ ว่ามีเสียงที่เกิดจากการกัดฟันเกิดขึ้นในระหว่างที่นอนหลับหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการนำไปปรึกษาแพทย์ได้
คำถามที่พบบ่อย
นอนกัดฟันเป็นอันตรายต่อรากฟันเทียมไหม
ทำให้รากเทียมเสียหาย เพราะน้ำหนักที่ลงค่อนข้างมาก มีผลทำให้ครอบรากเทียมแตก สกรูภายในรากเทียมหัก รวมถึงตัวรากเทียมแตกออกได้
นอนกัดฟัน ทำให้หน้าสั้น หน้าบานจริงไหม
หน้าสั้น เพราะ มีฟันสึก ทำให้ฟันสั้นลง เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ฟันยิ่งสึกมากจะมีปัญหาเรื่องความสวยงามตามมา ทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยค้ำยันรักษารูปหน้าด้วย
หน้าบาน เพราะ กล้ามเนื้อใบหน้าแก้มทั้งสองข้างทำงานหนัก เพิ่มขนาด และกระดูกขากรรไกรขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม