การจัดฟันเป็น วิธีการหนึ่งที่ช่วยดูและสุขภาพฟันและช่องปากให้ดีขึ้นได้ และไม่ว่าใครก็สามารถทำการจัดฟันได้ เพราะจัดฟันไม่เพียงช่วยปรับรูปร่างฟันให้สวยงาม จนทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเหงือก และช่วยในการบดเคี้ยวอาหารได้เป็นอย่างดี
สำหรับใครที่กำลังรู้สึกลังเลว่า ควรจัดฟันดีไหม จัดฟันหน้าเปลี่ยนไหม จะจัดฟันที่ไหนดี หรือกังวลว่ามีเรื่องอะไรที่ควรจะต้องรู้บ้างเกี่ยวกับการจัดฟัน ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ขั้นตอนการจัดฟันครั้งแรกและวิธีการดูแลหลังจัดฟันอย่างถูกต้องจากทันตแพทย์โดยตรง ก็หวังว่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้คนไข้ที่ต้องการจะจัดฟันได้รับข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อจัดฟันต่อไป
ขั้นตอนการจัดฟันมีอะไรบ้าง
สำหรับขั้นตอนการจัดฟันนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 7 ขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. เข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาการจัดฟัน
เมื่อต้องการจัดฟัน ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการพบกับทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบปัญหาในฟันและเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งในขั้นนี้ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติ การดูแลทั้งก่อนจัด ระหว่าง จัดและหลังจัดฟัน รวมถึงพูดคุยรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และคนไข้จะได้มีข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาว่าต้องการจัดฟันหรือไม่ด้วย
2. ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพในช่องปาก
หากคนไข้มั่นใจแล้วว่าต้องการจะทำการจัดฟัน ทางทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพในช่องปากให้เรียบร้อยว่า มีปัญหาสุขภาพเหงือกและฟันตรงไหนบ้างที่ต้องทำการเคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อย รวมถึงจะทำการพิมพ์ปากทำแบบจำลองฟัน เพื่อดูโครงสร้างฟันและการสบของฟัน ปิดท้ายด้วยการเอกซเรย์ฟัน เพื่อดูลักษณะกระดูกขากรรไกรว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วย
3. เลือกแผนในการจัดฟัน
หลายคนคงคุ้นเคยกับการจัดฟันแบบโลหะ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีรูปแบบการจัดฟันอื่นๆ ให้เลือกอีกหลายแบบ เช่น จัดฟันแบบเซรามิก, จัดฟันแบบใส, จัดฟันแบบดามอน ฯลฯ และยังปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มได้ด้วยว่าจะถอนฟัน หรือไม่ถอนฟันได้ ซึ่งรูปแบบการจัดฟันแต่ละแบบนั้นมีข้อดีที่แตกต่างกัน รวมถึงราคาก็ต่างกันออกไปด้วย
4. เคลียร์ช่องปาก
ขั้นต่อมาจะเป็นขั้นตอนของการเคลียร์ช่องปาก โดยทันตแพทย์จะทำการเคลียร์ปัญหาสุขภาพภายในช่องปากให้เรียบร้อย เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟันคุด ฯลฯ เพื่อให้พร้อมสำหรับการติดเครื่องมือจัดฟันในขั้นตอนต่อไป
5. ติดเครื่องมือจัดฟัน
สำหรับขั้นตอนของการติดเครื่องมือจัดฟันจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดฟันที่คนไข้เลือกด้วย เช่น
- ติดตั้งเครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ ทันตแพทย์จะติดตั้งเครื่องมือลงไปบนผิวฟัน และทำการใส่ลวดจัดฟันให้ โดยลวดจะจะถูกรัดอยู่ในตัวแบร็คเก็ตด้วยยางจัดฟัน เพื่อให้ฟันเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ทันตแพทย์วางแผนเอาไว้
- ติดตั้งเครื่องมือจัดฟันแบบใส ทันตแพทย์จะสร้างแผนการรักษา 3 มิติสำหรับคนไข้แต่ละคน และทำการส่งข้อมูลไปผลิตเครื่องมือจัดฟันใสที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นทันตแพทย์จะมอบอุปกรณ์จัดฟันแบบใส invisalign ให้ประมาณ 3-4 เซ็ตในแต่ละครั้ง ซึ่งคนไข้จะต้องทำการใส่ทุกวัน และเปลี่ยนทุกๆ สองสัปดาห์โดยประมาณ
6.การเข้ารับการรักษาพบแพทย์หลังติดเครื่องมือ
หลังจากทำการติดตั้งเครื่องมือจัดฟันแล้ว ทันตแพทย์จะนัดเข้ามาตรวจสอบอาการและปรับเครื่องมือ รวมถึงติดตามความคืบหน้าของการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยการนัดหมายกับทางทันตแพทย์จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัดฟันที่คนไข้เลือกเช่น จัดฟันใสทันตแพทย์จะนัดเข้ามาทุกๆ 6-8 สัปดาห์, จัดฟันแบบโลหะทันตแพทย์จะนัดทุกๆ 1 เดือน เป็นต้น
7. ถอดเครื่องมือจัดฟัน
หลังจากทำการจัดฟันตามแผนการรักษาเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการถอดเครื่องมือจัดฟัน หลังจากนั้นทันตแพทย์จะให้คนไข้ทำการใส่รีเทนเนอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือคงสภาพฟัน ไม่ให้เกิดฟันล้ม ฟันเก หรือฟันห่างหลังจากจัดฟัน ส่วนระยะเวลาในการใส่นั้นจะขึ้นอยู่กับทางทันตแพทย์ประเมินอีกที
ขั้นตอนการดูแลหลังจัดฟัน
หลังจัดฟัน การดูแลสุขภาพฟันและปากย่อมสำคัญอย่างมาก เพราะฟันจัดยังต้องการการดูแลและการรักษาต่อไป โดยทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลฟันและปากให้ถูกต้องด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็นอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการเกิดคราบหินปูนสะสม
- เลือกใช้แปรงขนนุ่ม หรือแปรงที่ออกแบบเฉพาะสำหรับคนจัดฟันซึ่งมีขนแปรงตรงกลางที่สั้นกว่าบริเวณอื่น เพื่อให้ทำความสะอาดฟันและเหล็กจัดฟันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ทำให้เหล็กจัดฟันเสียหาย
- เลือกใช้แปรงซอกฟันสำหรับทำความสะอาดตามเครื่องมือจัดฟัน หรือบริเวณที่แปรงสีฟันไม่สามารถเข้าถึงได้
- เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ
- พบทันตแพทย์ทุกครั้งตามนัด เพื่อปรับเครื่องมือจัดฟันให้เหมาะสม
- เข้ารับการตรวจสอบสุขภาพภายในช่องปากทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้ทันตแพทย์ดูว่า มีปัญหาอะไรในช่องปากบ้าง เช่น ฟันผุ หินปูน เหงือกอักเสบ ฯลฯ แล้วทำการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เช่น ทำการอุดฟัน รักษาเหงือก ขูดหินปูน เป็นต้น
- ลดการรับประทานอาหารหวานและเครื่องดื่มที่มีความหวาน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เหนียวและแข็ง เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันเสียหายได้ง่าย
- ช่วงแรกที่ทำการติดเครื่องมือจัดฟัน หรือปรับลวดจัดฟัน อาจมีการปวดฟันได้ สามารถทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการได้เลย
- หากมีลวดทิ่มหรือรู้สึกระคายเคืองจากเครื่องมือจัดฟันสามารถใช้ขี้ผึ้งในการปิดทับบริเวณที่ระคายเคือง หรือทำให้เกิดแผลได้
- หากเกิดแผลหรือรู้สึกระคายเคือง รวมถึงเครื่องมือเสียหายสามารถนัดมาพบกับทันตแพทย์จัดฟันได้ก่อนที่จะถึงวันนัดในครั้งถัดไป
สรุป
การจัดฟันจำเป็นต้องได้รับการดูแลและการรักษาอย่างถูกต้องด้วยทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ดังนั้น การพบกับทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบและวางแผนการรักษาเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการจัดฟันครั้งแรกมากที่สุด และหลังจากจัดฟันเสร็จแล้วก็ควรดูแลและรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคภายในช่องปากตามมาภายหลัง ซึ่งอาจทำให้การจัดฟันล้มเหลว และนำไปสู่การจัดฟันรอบสอง รอบสาม แทนได้ ทางที่ดีที่สุดเลยก็คือ รักษาสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี รวมถึงมาพบกับทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และระมัดระวังในการรับประทานให้มากขึ้น เท่านี้ก็ช่วยให้การจัดฟันสำเร็จได้อย่างราบรื่นมากขึ้นแล้ว