ฟัน คืออวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร ใช้ในการออกเสียง และเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพให้กับคนเราได้เป็นอย่างดี หลายคนจึงพยายามรักษาสุขภาพฟันให้ดูสวยและแข็งแรงอยู่ตลอดด้วยการทำทันตกรรมต่างๆ และถ้ายิ่งฟันเกิดปัญหาใหญ่อย่างเช่น “อาการฟันแตก” ที่ Smile and Co ของเราจะพูดถึงกันในบทความนี้ ก็ยิ่งต้องหาสาเหตุของการเกิดและการรักษาที่ถูกต้อง โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะให้คำตอบกับทุกคนแล้วค่ะว่า ปัญหาฟันแตกคืออะไร อาการเป็นยังไง อันตรายไหม ไปจนถึงจะป้องกันหรือรักษาได้อย่างไรบ้าง ดังนี้
ฟันแตก คืออะไร
ฟันแตก คือ ปัญหาฟันที่มีบางชิ้นส่วนของฟันบิ่นหรือแตกออกมาจากตัวฟัน โดยความเสียหายนี้เกิดขึ้นบริเวณผิวฟันทำให้ฟันผิดรูป เป็นรู มีลักษณะแหลม เกิดรอยแยกบนฟัน หรือมีผิวสัมผัสที่ไม่เรียบเนียนนั่นเองค่ะ
ฟันแตกนั้นเกิดได้ทั้งฟันหน้าไปจนถึงฟันกรามเลย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการบูรณะฟันในส่วนที่สูญเสียไปก็อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เสียวฟัน, ปวดฟัน, ฟันผุทะลุโพรงประสาท ฯลฯ
ฟันแตก อาการเป็นอย่างไร
ลักษณะภายนอกฟัน บิ่น แตก อาจมีเลือดออกร่วมด้วย
ลักษณะภายนอกฟันที่บิ่นหรือแตกอาจมีเลือดออกร่วมด้วย มักเกิดจากการที่รอยแตกของฟันแตกลึกลงไปถึงเนื้อฟันหรือโพรงประสาทฟัน ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่ภายในฟันแตกและทำให้เลือดออกมาได้ด้วยค่ะ
หากฟันแตกถึงโพรงประสาทฟัน จะรู้สึกเจ็บ ปวด เสียวฟัน
อาการฟันแตกถึงโพรงประสาทฟัน หากเกิดอาการติดเชื้อหรืออักเสบของเนื้อเยื่อในโรงประสาทฟัน อาจทำให้เกิดอาการปวด เจ็บ หรือเสียวฟันจนทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฟันมากและปวดอยู่นานเลยทีเดียว
มีอาการเหงือกอักเสบ บวม ในบริเวณฟันที่แตก
เหงือกอักเสบ เหงือกบวมจากการที่มีฟันแตก เกิดจากการที่ฟันมีช่องว่าง ทำให้เศษอาหารเข้าไปติดสะสมจนแบคทีเรียเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดอาการเหงือกบวมและอักเสบขึ้นมาได้ หรือถ้าฟันแตกลึกถึงชั้นเนื้อฟันก็มีโอกาสทำให้เหงือกอักเสบ เหงือกบวมด้วยเช่นกันค่ะ
ฟันแตกอันตรายไหม ควรรีบรักษาหรือไม่
ฟันแตกอาจอันตรายได้หากไม่รีบรักษา (ขึ้นอยู่กับระดับความแตกของฟัน) เพราะรอยแตกของฟันอาจขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ฟันสูญเสียโครงสร้างของฟันและไม่สามารถใช้งานฟันได้ตามปกติ รวมถึงทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวด เสียวฟัน รับประทานอาหารไม่อร่อย ไปจนถึงสูญเสียฟันซี่สำคัญได้หากเกิดอาการติดเชื้อ อักเสบ หรือเป็นหนองต่างๆ ตามมา
ลักษณะของฟันแตกที่ควรมาพบทันตแพทย์
ฟันแตกเป็นรู
ฟันแตกเป็นรูหรือรอยแตกขนาดใหญ่ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกัดของแข็ง, วัสดุอุดฟันหลุด, ฟันไม่สบกัน, ฟันผุ ฯลฯ สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันใหม่ได้ค่ะ
ฟันแตกครึ่ง
ฟันแตกครึ่ง จะมีลักษณะของฟันแตกเป็น 2 ส่วน (Split tooth) อาจจะเป็นฟันหน้าแตกหรือฟันกรามแตกก็ได้ โดยอาจเกิดจากการกัดหรือเคี้ยวของแข็ง อุบัติเหตุ การนอนกัดฟัน หรือเป็นคนที่มีเนื้อฟันบาง และเคยอุดฟันกรามขนาดใหญ่มาก่อน ทำให้รู้สึกปวดไปจนถึงเป็นหนองตามมา รักษาได้ด้วยการครอบฟัน วีเนียร์ รักษารากฟันเทียม หรือถอนฟัน
ฟันแตกถึงรากฟัน
ฟันแตกเป็นแนวดิ่งลงไปถึงรากฟัน จนอาจทำให้ฟันแยกจากกันได้ จนทำให้ปวด ทันตแพทย์จะต้องรักษารากฟัน ซึ่งอาจรักษาฟันไว้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น หรืออาจต้องถอนฟันออกไปเลย
ฟันแตกเหงือกบวม
ฟันแตกสามารถทำให้เหงือกอักเสบได้ หากฟันแตกลึกไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน แน่นอนว่าทำให้เสียวฟัน และปวดได้ การรักษาก็ต้องรักษาทั้งโรคเหงือกและฟันที่แตก
ฟันแตกเกิดจากอะไร ควรป้องกันอย่างไร
ฟันแตกเกิดจากแรงกดหรือแรงกระแทกทำให้ส่วนเคลือบฟัน (Enamel) และเนื้อฟัน (Dentin) แตกออก บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้โพรงประสาทฟันกระทบกระเทือนไปด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น…
- การเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ลูกอม กระดูก ถั่ว เมล็ดพืช
- การกัดหรือเคี้ยวของแข็งที่มีคม เช่น เปลือกหอย ผลไม้แข็ง
- การรับประทานอาหารที่มีอุณหภูมิต่างกันอย่างฉับพลัน เช่น กินซุปร้อนๆ แล้วตามด้วยดื่มน้ำเย็นจัดทันที
- ประสบอุบัติเหตุอย่างแรง เช่น รถชน การล้ม ถูกของแข็งกระแทก
- การสบฟันแรงๆ อย่างการนอนกัดฟัน
- ฟันมีรอยอุดขนาดใหญ่ ทำให้โครงสร้างความแข็งแรงของฟันซี่นั้นลดลง
สำหรับวิธีการป้องกันฟันแตกสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆ
- สวมฟันยางเมื่อเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกบริเวณฟัน เช่น ชกมวย เทควันโด
- ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรักษาอาการนอนกัดฟัน
- ดูแลสุขภาพฟันและช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
- ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและขูดหินปูนทุก 6 เดือน
- หมั่นสังเกตฟันอย่างสม่ำเสมอ หากพบฟันแตกหรือมีรอยร้าว ควรรีบไปพบทันตแพทย์
เมื่อฟันแตก รักษาอย่างไรได้บ้าง
- อุดฟัน จะเป็นการทำทันตกรรมเมื่อมีฟันแตกลึกหรือฟันมีรอยแตกร้าว โดยใช้การอุดฟันเพื่อซ่อมแซมรอยแตกและเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะใช้วัสดุอุดฟัน เช่น วัสดุเรซินสีเหมือนฟัน หรือวัสดุอมัลกัมสีเงิน อุดลงไปในบริเวณที่แตกให้ค่ะ
- หากฟันแตกหรือร้าวเล็กน้อยที่บริเวณเคลือบฟัน ทันตแพทย์จะใช้วิธีกรอฟันเพื่อขัดผิวของฟันให้เรียบ ซึ่งช่วยลดความคมไม่ให้ฟันที่แตกบาดเหงือกหรือลิ้น และช่วยแก้ไขให้ฟันกลับมาสวยงามดังเดิมได้ค่ะ
- รักษารากฟัน จะเป็นการทำทันตกรรมในกรณีที่ฟันแตกทะลุโพรงประสาทฟัน และต้องทำการกำจัดอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้น และป้องกันการสูญเสียฟันซี่นั้น โดยทันตแพทย์จะทำการทำความสะอาดคลองรากฟัน นำเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออก และอุดคลองรากฟันเพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าสู่โพรงประสาท
- ครอบฟัน จะใช้รักษากรณีที่ฟันแตกทะลุโพรงประสาทฟัน หรือมีรอยแตกร้าวรุนแรง การครอบฟันจะช่วยปกป้องฟันและป้องกันไม่ให้รอยแตกขยายใหญ่ขึ้น
- ถอนฟัน จะเป็นการทำทันตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาฟันแตกในกรณีที่รุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ ทำให้ต้องถอนฟันซี่นั้นๆ ทิ้งไป
- วีเนียร์ จะสามารถทำได้ในกรณีที่ฟันแตกไม่รุนแรง โดยทันตแพทย์จะทำการกรอฟันซี่นั้นเพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีเนื้อฟันเพียงพอที่จะติดวีเนียร์ จากนั้นจึงติดวีเนียร์ลงบนผิวฟัน โดยวีเนียร์จะช่วยปกปิดรอยแตกและทำให้ฟันกลับมาสวยงามได้เหมือนเดิม
- รากฟันเทียม จะเป็นการทำทันตกรรมที่ช่วยรักษาฟันแตกที่มีความรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ รากฟันเทียมจะช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไปและทำให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
ฟันหน้าแตก กับ ฟันกรามแตก รักษาต่างกันหรือไม่
ฟันหน้าแตกและฟันกรามแตกมีการรักษาที่แตกต่างกันตามลักษณะและความรุนแรงของอาการ เช่น
- ฟันหน้าแตกบิ่นไม่มาก ไม่ทะลุไปถึงโพรงประสาทสามารถใช้วิธีการอุดฟันได้ ส่วนในกรณีที่ฟันหน้าแตกทะลุโพรงประสาทฟัน แต่ยังมีเนื้อฟันแข็งแรงอยู่พอสมควรก็สามารถใช้วิธีการอุดฟันได้ แต่ถ้าเนื้อฟันเหลือน้อย ก็ต้องใส่เดือยและทำครอบฟันเพิ่มเติม
- ฟันกรามแตกรอยตื้นๆ จะใช้วิธีการกรอหรือขัดเงาผิวฟันแก้ไขได้ หากแตกเป็นรูจะใช้วิธีการอุดฟันหรือครอบฟันได้เช่นเดียวกับฟันหน้า แต่ถ้าหากฟันกรามแตกหักเสียหายรุนแรงไม่สามารถรักษาเนื้อฟันไว้ได้อาจจะต้องถอนฟันซี่นั้นออก
การรักษาฟันแตกราคาเท่าไหร่
อุดฟันแตก ราคา
ทันตกรรมอุดฟัน ราคาจะขึ้นอยู่ที่วัสดุอุดฟัน โดยอุดฟันสีโลหะ เริ่มต้นที่ 800 – 1,500 บาท ส่วนอุดฟันสีเหมือนฟัน ราคาเริ่มต้นที่ 900 – 2,000 บาท
ถอนฟันแตก ราคา
ถอนฟันแตก ราคาจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 900 – 2,000 บาท
รักษารากฟัน ฟันแตก ราคา
รักษารากฟัน ฟันแตก ราคาจะอยู่ที่ตำแหน่งฟัน เช่น รักษารากฟันหน้า ราคาประมาณ 6,000 – 8,000 บาท รักษารากฟันกรามน้อย ราคาประมาณ 8,000 – 10,000 บาท และรักษารากฟันกราม ราคาประมาณ 10,000 – 13,000 บาท
ฟันหน้าแตก ฟันบิ่น ราคา
ฟันหน้าแตก ฟันบิ่น ราคาจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา เช่น อุดฟันจะอยู่ที่ 800 ไปจนถึง 2,000 บาท, ครอบฟัน ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 16,000 – 25,000 บาท
ฟันแตก ครอบฟัน ราคา
ฟันหน้าแตก ครอบฟัน ราคาครอบฟันจะเริ่มต้นที่ประมาณ 16,000 – 25,000 บาท
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฟันแตก
ฟันแตก ปวดฟัน เกิดจากอะไร
ฟันแตก ปวดฟัน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ฟันผุ, การสบฟันแรงอย่างการนอนกัดฟัน, อุบัติเหตุ, การกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็ง, ฟันที่มีรอยอุดขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ชั้นเนื้อฟันหรือโพรงเนื้อฟันที่ไวต่อความรู้สึกโผล่ออกมา และทำให้รู้สึกปวดฟันนั่นเองค่ะ
ฟันแตกเป็นรู ปวดมาก ควรทำอย่างไร
หากฟันแตกเป็นรู ปวดมาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งระหว่างที่จะไปพบแพทย์ควรที่จะบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด ประคบบริเวณที่ปวดด้วยน้ำแข็งหรือผ้าเย็น หรือใช้ยาแก้ปวด พร้อมหลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งๆ รับประทานอาหารนิ่มๆ และแปรงฟันอย่างเบามือด้วย
ฟันแตก จำเป็นต้องถอนฟันไหม
ฟันแตก ไม่จำเป็นต้องถอนฟันเสมอไป ควรให้ทันตแพทย์ประเมินอาการก่อนว่าควรรักษาด้วยวิธีการใดจึงจะเหมาะสมที่สุด หากไม่ได้มีอาการแตกมากยังสามารถรักษาโดยวิธีการอื่นๆ ได้ ยกเว้นในกรณีที่ฟันมีความเสียหายรุนเเรงโดยที่ไม่สามารถรักษาเนื้อฟันได้ ก็ต้องใช้การถอนฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามแทน
ฟันหน้าแตกอุดฟันอย่างเดียวได้ไหม
ฟันหน้าแตกอุดฟันอย่างเดียวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยแตก หากรอยแตกไม่ลึกมาก อาจรักษาโดยการอุดฟันได้ แต่ถ้ารอยแตกลึกถึงโพรงประสาทฟัน หรือฟันเสียรูปหรือไม่สามารถใช้งานได้ก็ต้องใช้วิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การรักษารากฟัน การถอนฟัน การทำรากฟันเทียม ฯลฯ
สรุป
ฟันแตกเป็นปัญหาเกี่ยวกับฟันที่หลายคนอาจละเลยคิดว่าไม่ได้อันตราย แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น ฟันผุ เหงือก อักเสบ เหงือกบวม มีอาการปวดฟัน เสียวฟันต่างๆ ตามมาได้ง่าย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดควรที่จะเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ก่อนจะดีที่สุด เพื่อให้ฟันซี่สำคัญอยู่กับคุณไปได้อีกนานนะคะ