ฟันล่างคร่อมฟันบน นับเป็นหนึ่งปัญหาที่คนไทยจำนวนไม่น้อยประสบอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการใช้ชีวิตและในแง่ของความมั่นใจ ทำให้หลายคนไม่กล้าเผยรอยยิ้ม เพราะรู้สึกอายจากปัญหาฟันซ้อนหรือเกที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลใจไป
เนื่องจากการทำทันตกรรมในปัจจุบันนี้สามารถแก้ไขปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนได้ เพียงแต่ต้องทำการปรึกษากับทางทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าสาเหตุของอาการนี้เกิดจากอะไร และจะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใดได้บ้าง ซึ่งในบทความนี้ คลินิกทันตกรรม Smile & Co Clinic ได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว จะมีอะไรที่คุณต้องพิจารณาบ้าง ตามไปดูพร้อมๆ กันเลย
ฟันล่างคร่อมฟันบน มีลักษณะอย่างไร
ฟันล่างคร่อมฟันบน หรือ Crossbite เป็นอาการของฟันที่มีการสบกันแบบผิดปกติของฟันล่างที่เกยฟันบนออกมา หรือที่ ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะคางยื่น” (Prognathism) สามารถเกิดได้กับทั้งชุดฟันน้ำนม ชุดฟันผสม และชุดฟันแท้ รวมถึงพบได้ทั้งในฟันหน้าและฟันหลัง
สำหรับความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงการที่ฟันล่างยื่นออกมามากจนฟันแถวล่างกับแถวบนไม่สบกันเลย ตั้งแต่ฟัน 1-2 ซี่ ฟัน 3-4 ซี่ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่าคางยื่นมากกว่าปกติ หรือรู้สึกว่าหน้าเบี้ยวได้ โดยลักษณะของการเกิดฟันล่างคร่อมฟันบนจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หลักๆ ได้แก่
- ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างปกติ คนไข้ที่มีขากรรไกรบนและล่างปกติ มักประสบปัญหาเรื่องของการสบฟัน คางยื่น หน้าเบี้ยว คางเบี้ยว ฟันล่างยื่นคร่อมฟันบน โดยที่บนไม่เกิน 1-3 ซี่ และฟันบนดูไม่บานหรือยื่นฟันล่างไม่ล้มเข้าไปด้านลิ้น
- มีความผิดปกติของขากรรไกรบน หรือขากรรไกรล่าง สำหรับผู้ที่มีปัญหาขากรรไกรบน หรือขากรรไกรล่าง เช่น ขากรรไกรบนเล็ก ขากรรไกรล่างใหญ่ อาจจะทำให้รู้สึกว่ามีปัญหาคางยื่นได้ เนื่องจากมีฟันล่างคร่อมฟันบนบนมากกว่า 2 ซี่ หรือฟันล่างคร่อมฟันบนทั้งหมด รวมถึงอาจจะมีอาการฟันล่างคร่อมฟันบนแค่ซี่เดียว แต่มุมฟันบนบาน หรือมีฟันล่างล้มมาทางด้านลิ้นร่วมด้วยก็ได้
สาเหตุการเกิดฟันล่างคร่อมฟันบน
ในด้านของสาเหตุการเกิดฟันล่างคร่อมฟันบน มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น
- กรรมพันธุ์
- ขากรรไกรเกิดความผิดปกติ
- การเกิดอุบัติเหตุจนเกิดการกระแทกบริเวณฟันเขี้ยวน้ำนม จนทำให้ขากรรไกรมีการบิดเบี้ยวไปจากธรรมชาติ
- เกิดการสูญเสียฟันน้ำนมก่อนระยะเวลาอันควร จนทำให้มีกระดูกหรือเหงือกหนาปกคลุมหน่อฟันแท้ และทำให้กระดูกบริเวณขากรรไกรล่างเจริญเติบโตน้อย
- กระดูกขากรรไกรบน – ล่าง มีการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน เช่น ขากรรไกรล่างมีการเติบโตช้ากว่าขากรรไกรบน
- เกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่
ผลข้างเคียงของการมีฟันล่างคร่อมฟันบน
การมีฟันล่างคร่อมฟันบนจะมีผลข้างเคียงทั้งในด้านการใช้ชีวิตและอาการบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น
- การทำให้รับประทานอาหารลำบาก
- ทำให้มีปัญหาด้านการออกเสียง
- เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังที่ขากรรไกรหรือข้อต่อ
- มีอาการปวดศีรษะและปวดหูเรื้อรัง
- มีปัญหาในด้านความสมดุลใบหน้า รู้สึกว่าหน้าเบี้ยว หรือคางยื่น
ฟันล่างคร่อมฟันบนรักษาอย่างไร
สำหรับในด้านการรักษาคนไข้ที่มีอาการฟันล่างคร่อมฟันบน จะสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
การจัดฟันล่างคร่อมฟันบนแบบไม่ผ่าตัด
การแก้ไขฟันล่างคร่อมฟันบนนั้น จะต้องผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกติของขากรรไกรบนและล่างมีมากน้อยแค่ไหน หากมีปัญหาน้อยและไม่ซับซ้อนก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัด เช่น การจัดฟันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น
โดยจะมีการดึงให้ฟันหน้าล่างเข้าไปข้างในมุม ทำให้ฟันหน้าบนบานออก ซึ่งจะช่วยให้ฟันบนกลับมาอยู่หน้าฟันล่าง เป็นต้น โดยวิธีนี้มีข้อดีคือ ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการผ่าตัด (ราคาในการผ่าตัดขากรรไกรละประมาณ 80,000-150,000บาท) ส่วนข้อเสียคือ มุมฟันบนอาจจะดูบาน มุมฟันล่างอาจจะดูเอียงไปด้านลิ้น นอกจากนี้ ขากรรไกรที่ยื่นไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้มีลูกคางมากขึ้น จนทำให้อาจจะต้องเติมฟันหน้าบนในผู้ป่วยบางราย หรืออาจจะมีอาการเหงือกร่นร่วมด้วยได้
2. การจัดฟันล่างคร่อมฟันบนร่วมกับการผ่าตัด
ส่วนการจัดฟันล่างคร่อมฟันบนร่วมกับการผ่าตัดจะทำการแก้ไขโครงสร้างความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรบนกับกระดูกขากรรไกรล่างมุมฟันบนและล่าง ซึ่งทางทันตแพทย์จัดฟันจะต้องวางแผนร่วมกับทันตแพทย์ผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาช่องปากและกระดูกขากรรไกร
กำหนดแนวทางในการรักษาร่วมกันก่อนทำการรักษา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาคนไข้แต่ละราย ทำให้มีค่าใช้จ่ายทั้งในการจัดฟัน และการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องดมยาสลบและพักอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ รวมถึงมีผลข้างเคียงของการผ่าตัด เช่น บวม ชาที่ขากรรไกร ร่วมด้วย
การเตรียมตัวก่อนการรักษาฟันล่างคร่อมฟันบน
สำหรับผู้ที่รักษาฟันล่างคร่อมฟันบนด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดจะมีการเตรียมตัวก่อนการรักษาเช่นเดียวกับการจัดฟัน ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลที่ควรรู้และวิธีการเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังการทำทันตกรรมได้ที่ การจัดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ครบทุกเรื่อง ที่คนยังไม่จัดฟันควรรู้ !
ส่วนผู้ที่จะต้องทำการรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนด้วยวิธีการผ่าตัดจะต้องเตรียมตัวก่อนการรักษา ดังนี้
- ก่อนผ่าตัดให้งดเว้นยาแอสไพริน ไอบิวโพรเฟน และวิตามิน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
- เนื่องจากมีการดมยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์ จึงต้องทำการงดอาหารและน้ำก่อนวันผ่าตัดตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- กรณีมีรับประทานยาอยู่ อาจจะต้องหยุดรับประทานยาตามแพทย์/ทันตแพทย์สั่ง เช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- แปรงฟัน บ้วนปากให้สะอาด ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการรับการผ่าตัด
การดูแลหลังรักษาฟันล่างคร่อมฟันบน
การดูแลรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนหลังจากทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- นอนพักผ่อนให้ศีรษะอยู่ในตำแหน่งที่สูง เพื่อลดอาการบวมที่อาจเกิดขึ้น
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยา เพิ่มหรือลด ขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
- ทำการประคบเย็นในวันแรก จากนั้นจึงประคบอุ่น เพื่อลดอาการบวมช้ำที่อาจเกิดขึ้น
- ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อลดผลแทรกซ้อนการติดเชื้อตามที่แพทย์แนะนำ เช่น การบ้วนปากให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มแปรงฟันได้หลังผ่าตัดวันที่ 2 โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กขนนิ่มของเด็กอย่างระมัดระวัง
- ควรขยับใบหน้า เพื่อให้ขากรรไกรได้เคลื่อนไหวบ้าง
- ควรรับประทานอาหารเหลวใสในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการผ่าตัด เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของบาดแผลในช่องปาก
- งดการออกกำลังกายอย่างหนัก อย่างน้อย 1 เดือน และกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง
- ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การล้วงเข้าไปในช่องปาก หรือเขี่ยแผลโดยไม่จำเป็น
- สังเกตภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการรุนแรงควรมาพบทันตแพทย์ก่อนวันนัดหมาย
ฟันล่างคร่อมฟันบน ปล่อยเอาไว้ไม่รักษาได้ไหม
ทางที่ดีที่สุดคือควรทำการรักษา เนื่องจากอาจส่งผลข้างเคียงต่อการใช้ชีวิต และอาจสร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้กับคนไข้ตามมาได้ แต่หลายคนอาจจะกังวล การรักษาจะต้องยุ่งยากหรือจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนที่เหมาะสมเสมอไป เพราะคุณสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่นโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเช่นกัน
- อย่างในเด็กที่มีอายุน้อย อยู่ในวัยที่มีชุดฟันเป็นฟันผสม คือมีฟันแท้ขึ้นผสมกับฟันน้ำนม ทางทันตแพทย์อาจจะใช้เครื่องมือทันตกรรมชนิดถอดได้ (Removable appliance) โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดร่วมด้วย (แต่ทั้งนี้ วิธีการรักษาก็ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ความร่วมมือในการใส่เครื่องมือ กรรมพันธุ์ หรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งทันตแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยร่วมด้วย)
- ส่วนในวัยผู้ใหญ่เองหากทันตแพทย์จะพิจารณาดูที่ฟัน หากฟันล่างจะคร่อมฟันบนไม่มาก มีกระดูกรองรับรากฟันที่เพียงพอและสมบูรณ์ ก็พอที่จะจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้
ดังนั้น จึงควรเข้ารับคำปรึกษา การประเมิน และการวางแผนการรักษาจากทางทันตแพทย์ก่อน เพื่อดูลักษณะอาการ ซึ่งการรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนหากทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจะช่วยทำให้คุณมีสุขภาพภายในช่องปากที่ดี และช่วยแก้ปัญหาที่พบ เช่น การออกเสียง รูปหน้าเบี้ยว ปัญหาด้านการบดเคี้ยว ฯลฯ ให้ดีขึ้นมากกว่าที่เคยได้แน่นอน
ฟันบนคร่อมฟันล่างจัดฟันได้ไหม
ฟันล่างคร่อมฟันบนสามารถจัดฟันได้ แต่ต้องเลือกวิธีการจัดฟันที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายวิธี ซึ่งทางคลินิกทันตกรรมจะต้องให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาด้วยการจัดฟันที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไข้ ซึ่งถ้าหากคุณไม่แน่ใจว่าจะเข้ารับคำปรึกษาเรื่องการจัดฟันที่ไหนดี แนะนำให้สอบถามกับทางเรา Smile & Co Clinic โดยตรงได้เลยที่ LINE : @smileandco หรือโทร 082-787-7444
คำถามที่พบบ่อย
ฟันล่างคร่อมฟันบน ไม่ผ่าตัดได้หรือเปล่า ?
คำตอบ คือได้และไม่ได้นะคะ
- กรณีแรก ได้ (ไม่ต้องผ่าตัด) สำหรับ …
เด็กอายุน้อยๆในวัยฟันแท้กำลังขึ้นผสมฟันน้ำนม คุณหมออาจใช้เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ (Removable appliance) ช่วยดันฟันหน้าออกมาค่ะ
เด็กอายุน้อยๆในวัยประถมที่ขากรรไกรบนยุบ อาจใช้เครื่องมือกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรบนค่ะ
หากขากรรไกรล่างเป็นส่วนที่ยื่นออกมา (คางยื่น) อาจจะใช้เครื่องมือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง เช่น chin cup ช่วยนะคะ
**แต่ทั้งนี้ความสำเร็จของการรักษาในช่วงวัยเด็ก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความร่วมมือในการใส่เครื่องมือ หรือกรรมพันธุ์ หรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เป็นต้นค่ะ
สำหรับในวัยผู้ใหญ่ สามารถทำได้ ในกรณีที่ โครงสร้างกระดูกขากรรไกรมีความปกติ หรือผิดปกติเพียงเล็กน้อย ใบหน้าเมื่อมองด้านข้างค่อนข้างตรงหรือคางยื่นออกมาเพียงเล็กน้อยนะคะ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ใบหน้าด้านข้างสวยนั่นเองค่ะ + มองหน้าตรงมีความสมมาตร คางไม่เบี้ยวมาก
นอกจากนี้ก็ต้องพิจารณาดูที่ฟัน ฟันล่างจะคร่อมฟันบนไม่มาก มีกระดูกรองรับรากฟันที่เพียงพอและสมบูรณ์ ก็พอที่จะจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้ค่ะ
- กรณีที่สอง “ผ่าตัด” นะคะ
หากความผิดปกติอยู่ที่โครงสร้างกระดูกขากรรไกร ใบหน้าด้านข้างมีลักษณะเว้า คางยื่น ฟันล่างสบคร่อมฟันบนมาก การแก้ไขด้วยการจัดฟันอย่างเดียว”ไม่”สามารถแก้ไขความผิดปกติได้หมดค่ะ การผ่าตัดจะช่วยจัดโครงสร้างกระดูกขากรรไกรให้มีความสัมพันธ์บนล่างที่ดีขึ้น ส่งผลให้รูปหน้าสวยงามขึ้น หรือเรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงเลยทีเดียว
ทำไมต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรและขั้นตอนเป็นอย่างไรค่ะ?
คนที่มีฟันล่างคร่อมฟันบน ฟันหน้าบนมักจะยื่น และฟันล่างงุ้มเข้าหาฟันบน การจัดฟันจะช่วยแก้ไของศาฟันให้มีความปกติตามกระดูกขากรรไกรนั้น ๆ เมื่อองศาฟันและการเรียงตัวของฟันดีขึ้นแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัด (ซึ่งการจัดฟันในระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีก่อนการผ่าตัด)
ฟันล่างค่อมฟันบน เลือกผ่าตัด 1 หรือ 2 ขากรรไกร ?
ขึ้นอยู่กับ ความผิดปกติอยู่ที่ไหน และมากน้อยเพียงใด เช่น ความผิดปกติอยู่เฉพาะขากรรไกรบน ก็จะผ่าที่ขากรรไกรบน หรือความผิดปกติอยู่ที่ขากรรไกรล่างก็อาจจะผ่าเฉพาะขากรรไกรล่าง แบบนี้เรียกว่า ผ่าตัด 1 ขากรรไกร แต่หากความผิดปกติอยู่ที่ทั้ง 2 ขากรรไกร หรือความผิดปกติค่อนข้างมาก ก็ต้องผ่าตัด 2 ขากรรไกรเมื่อผ่าเสร็จแล้ว ก็จะจัดฟันต่อเพื่อให้มีการสบฟันที่ดีและเรียงตัวสวยงาม โดยการจัดฟันในระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ค่ะ
สรุป
ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนหากไม่ทำการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ อาจนำไปสู่การสบฟันที่ผิดปกติแบบรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำการรักษามีความยุ่งยากตามไปด้วย ดังนั้น จึงควรเลือกวิธีการแก้ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนที่เหมาะสมด้วยการปรึกษาทันตแพทย์ รวมถึงทำการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น การอุดฟัน, ถอนฟัน, ขูดหินปูน, การผ่าฟันคุด ฯลฯ เพื่อให้มีสุขภาพในช่องปากที่สะอาดและแข็งแรงมากพอสำหรับการทำทันตกรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างเช่น การผ่าตัดต่างๆ เป็นต้น